วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

เทคนิคการตกปลา ตะกร้อหน้าดิน

เทคนิคการตกปลา แบบตะกร้อหน้าดิน 




การตกปลาแบบตะกร้อหน้าดินนั้นเป็นการตกปลาแบบหนึ่ง จากหลายๆรูปแบบของการตกปลา ถือว่าได้รับความนิยมสูงมากในหมู่นักตกปลา การตกปลาหน้าดินถือว่าเป็นวิชาที่ละเอียดอ่อนพอสมควร จะตกปลาให้ได้ตัวต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น ฤดูกาล หมาย อุปกรณ์ เหยื่อ วิธีการตก รวมถึงสภาพลม ฟ้า อากาศ ในเวลานั้นด้วย 
ฤดูกาล ถือว่าสำคัญมาก ช่วงฤดูร้อนน้ำตามอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนมักจะแห้ง ทำให้อาหารของปลามีน้อยลงปลาจึงมักจะมากินเบ็ดมาก ช่วงเริ่มเข้าหน้าฝนก็จะเป็นเวลาที่ปลาตัวเมียเริ่มที่จะสร้างไข่ช่วงนี้ปลาจะกินเบ็ดจัดที่สุด เพราะปลาต้องการอาหารมาก ช่วงปลายฤดูฝนปลาตัวเมียก็วางไข่เสร็จปลาตัวผู้ก็ผสมพันธุ์เสร็จ จึงต้องการอาหารมากเข่นเดียวกัน   ส่วนช่วงฤดูหนาวปลาส่วนมากมักจะกินเหยื่อน้อยโอกาสการกินเบ็ดของปลาจึงน้อยไปด้วย แต่ปลาบางชนิดก็ชอบกินเหยื่อตอนฤดูหนาวเช่น ปลาใน ปลาจีน เป็นต้น 
หมายตกปลา หมายถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน ลักษณะหมายหน้าดินที่ดีควรมีลักษณะเป็นหาด น้ำไม่ลึกมาก ลึกไม่เกิน 2-3 เมตร จะเป็นจุดที่ปลาชอบขึ้นมาเล่น มาหากิน ที่สำคัญเน้นการอ่อยเหยื่อให้ปลาคุ้นเคยกับอาหารที่เราตกก่อนจะดีที่สุด
อุปกรณ์ นอกจากคันเบ็ดแล้วยังมีอุปกรณ์ปลายสายต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการกินเหยื่อของปลาทุกอย่างต้องสมดุล อย่างเอ็นที่ใช้ควรมีขนาด 15-30 ปอน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับคัน รอกและปลาที่ตก เอ็นที่เล็กจะช่วยลดความระแวงเบ็ดของปลาที่มากินเหยื่อและช่วยลดการต้านกับกระแสลมที่พัดได้ดีกว่าเอ็นขนาดใหญ่ ขนาดของตะกั่วสำคัญมากตะกั่วต้องมีน้ำหนักพอที่จะถ่วงเอ็นไม่ให้อาหารกลิ้งหรือขยับได้ ถ้าอาหารขยับได้ทำให้ปลาที่กำลังมาดูดเหยื่อของเราจะเกิดความระแวงในการกินเหยื่อมากขึ้น ต่อมาก็เป็นกิ๊บควรใช้ขนาดพอเหมาะไม่เล็กไม่ใหญ่มากเน้นที่ความแข็งแรง ส่วนต่อมาคือตะกร้อ ควรมีขนาดประมาณ 5 เซนติเมตรถือว่าพอเหมาะ ตัวเบ็ดที่ใช้ควรมีขนาดประมาณเบอร์ 10 ใช้ตัวเบ็ด 2 ตัว ความยาวของสาย pe จากตัวตะกร้อควรมีขนาด 2-3 นิ้ว ขนาดตะกร้อและตัวเบ็ดนั้นอาจขึ้นอยู่กับชนิดปลาที่ตก ขนาดของเหยื่อ และตัวผู้ใช้เอง
เหยื่อ การกินเหยื่อของปลานั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่ปลาอาจจะชอบเหยื่อที่ไม่เหมือนกันทั้งหมด เหยื่อจำแนกได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือเหยื่อสด และเหยื่อหมัก  เหยื่อแบบสดจะมีกลิ่นหอมมักใช้ได้ผลปลาทุกชนิด ส่วนเหยื่อแบบหมักนั้นจะออกกลิ่นเปรี้ยวมักใช้ได้ผลดีกับปลา ยี่สก และปลาจีน เรื่องกลิ่นของเหยื่อนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการกินเหยื่อของปลาแต่ที่สำคัญต้องอยู่ที่การผสมเหยื่อด้วย เหยื่อที่ดีต้องไม่นิ่มเกินไปไม่แข็งจนเกินไปจะทำให้เหยื่อแตกตัวได้ดี กรณีที่ต้องการให้เหยื่อแตกตัวได้ดีควรเพิ่มกากมะพร้าวอบแห้งลงไปในเหยื่อ จะช่วยกระจายกลิ่นและการแตกตัวของอาหารทำให้ปลาเข้ามากินเหยื่อได้เร็วขึ้น
วิธีการตก ถือว่าสำคัญมากอย่างหนึ่ง ระยะเวลาในการเปลี่ยนอาหาร ควรให้เหยื่ออยู่ในน้ำประมาณ 2-3 ชั่วโมงในกรณีที่ไม่มีปลาเล็กกวน ถึงแม้เหยื่อจะละลายหมดจากตัวตะกร้อแต่เหยื่อก็จะยังคงกองอยู่กับพื้นดินจุดเดิมที่ตะกร้ออยู่โอกาสการติดเบ็ดก็ยังคงมีอยู่เช่นกันช่วงเวลานี้เป็นเวลาสำคัญที่ปลาจะกินเหยื่อ แต่ถ้ามีปลาเล็กกวนก็เว้นระยะการเปลี่ยนเหยื่อประมาณ 2 ชั่วโมง ส่วนวิธีการเกี่ยวเม็ดโฟมที่ตัวตะกร้อก็สำคัญเช่นกัน การเกี่ยวเม็ดโฟมนั้นเม็ดโฟมควรพอดีๆ ไม่ต้องใหญ่มากเมื่อเทียบกับตัวเบ็ด ควรให้เม็ดโฟมพยุงตัวเบ็ดให้ตั้งขึ้นมาพอไม่ต้องลอยสูงจนสุดเท่าความยาวของสาย pe ที่ผูกกับตัวเบ็ด ลองเช็กขนาดของตัวเบ็ดกับขนาดก่อนว่า เม็ดโฟมโดยเกี่ยวเม็ดโฟมแล้ววางลงในน้ำดูจะทำให้รู้ว่าเม็ดโฟมขนาดไหนพยุงตัวเบ็ดขึ้นมาได้ขนาดไหน ทำให้รู้ว่าควรใช้เม็ดโฟมขนาดใหญ่ หรือเล็กแค่ไหน นอกจากการเกี่ยวด้วยเม็ดโฟมแล้วยังสามารถเกี่ยวไส้ไก่หมัก หรือไส้เดือนเพิ่มเข้าไปได้ นอกจากการเกี่ยวโฟมแล้ว การวางคันเบ็ดก็มีส่วนเล็กน้อยต่อการติดเบ็ดของปลา ถ้าวางปลายคันสูงกับหมายที่ลมแรงๆ โอกาสที่ลมจะพัดสายเอ็นทำให้อาหารขยับความระแวงของปลาก็จะเพิ่มมากขึ้น หรือเมื่ออาหารละลายกองกับพื้นแต่ตัวตะกร้อขยับห่างออกจากอาหารที่กองอยู่อาจทำให้โอกาสที่ปลาจะดูดโดนเบ็ดน้อยลงไปด้วย
สภาพลม ฟ้า อากาศ ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญต่อการกินเบ็ดของปลา บางครั้งการเปลี่ยนแปลงของอากาศ หรือระดับน้ำ ทำให้ปลาต้องปรับสภาพเข้ากลับอากาศจึงมีผลทำให้ในวันนั้นปลาอาจไม่ค่อยกินเหยื่อได้
ทุกอย่างที่กล่าวมานี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง อาจมีเทคนิคต่างจากนักตกปลาท่านอื่นๆ หวังว่าจะเป็นแนวทางเลือกเพื่อนำมาปรับใช้กับการตกปลาหน้าดินของทุกๆท่าน การตกปลาตะกร้อหน้าดินไม่ใช่ว่าจะตกได้เสมอไปขึ้นอยู่กับระยะเวลา และการรอคอย